แสงสว่าง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ ซึ่งแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกสรรสร้างเพื่อสิ่งมีชีวิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากเราสามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาตินี้ได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด จะเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากที่เดียว แต่ เราต่างทราบกันดี แสงสว่างจากธรรมชาตินี้จะหมดไปในช่วงเวลากลางคืน เช่นนี้เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า ดังนั้นการวางแผนการใช้งานอย่างมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้แสงให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประหยัดพลังงาน
อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องเข้าใจถึงประสิทธิภาพในการมองเห็นอย่างชัดเจนถูกต้อง นั้นจะต้องเกิดความสบายในขณะที่ประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ให้มีแสงสว่างมาก หรือน้อยจนเกิดผลกระทบ เพราะในพื้นที่ใช้งานมี แสงสว่างที่น้อยเกินไป จะมีผลเสียต่อสายตา ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากเกินไปจากการเพ่งมอง ทำให้เกิดการเมื่อยล้าปวดตา มึนศีรษะ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในทางกลับกัน หากมี แสงสว่างที่มากเกินไป จะทำให้ผู้ทำงานเกิดความไม่สบายสายตา ปวด แสบตา มึนศีรษะ วิงเวียน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ รวมถึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงหรืออาจเป็นสาเหตุของโรคทางสายตาได้เช่นเดียวกัน
แสงที่เพียงพอกับการใช้งานที่เหมาะสม
ทราบได้อย่างไรว่าพื้นที่ใช้งานมีค่าความส่องสว่างเพียงพอหรือไม่ โดยทั่วไปเรามักจะรู้สึกได้จากอาการแสบตาเมื่อมีแสงมากเกินไปหรือต้องหรี่ตาเมื่อรู้สึกว่าพื้นที่นั้นๆ ว่ามีปริมาณน้อยเกินไป ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องวัดแสงเรียกว่า “Lux Meter” สำหรับวัดความสว่างเฉพาะความเข้มที่ปรากฏในสายตาของมนุษย์ โดยมีหน่วยของการวัดความสว่างเป็น ลักซ์ (Lux) โดยทั่วไประดับแสงกลางแจ้งจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ลักซ์ และจะมีระดับที่สมดุลแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญและมั่นตรวจวัดค่าความส่องสว่างให้มีค่าแสงสว่างเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดไว้เพื่อให้แต่ละวันในการทำงานของเราสามารถนั่งทำงานได้สบายตา
สำหรับการจัดแสงสว่างอย่างเหมาะสมในสถานที่ทำงานให้มีสภาพเหมาะสม ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญในเรื่องการเลือกระบบแสงสว่างและแหล่งกำเนิดแสงสว่าง และลักษณะห้องหรือพื้นที่ใช้งาน รวมทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณของแสงสว่าง ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาระบบแสงสว่าง หากมีแสงสว่างในสถานที่ทำงานไม่เพียงพอสามารถเลือกพิจารณาแก้ไขตามความเหมาะสม ได้แก่
- ติดตั้งดวงไฟเพิ่มเฉพาะจุดที่มีการทำงานเป็นพิเศษ เปิดและปิดไฟ เท่าที่จำเป็นต้องใช้งาน
- ลดระดับความสูงของดวงไฟลงมาอยู่ในระยะที่สามารถให้ปริมาณแสงสว่างเพียงพอ
- ใช้โคมไฟที่ทาด้วยสีเงิน หรือสีขาว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงได้ดี จะช่วยเพิ่มแสงสว่าง
- เปลี่ยนตำแหน่งการทำงานไม่ให้อยู่ในตำแหน่งที่มีเงา หรือเกิดเงาจากตัวผู้ปฏิบัติงาน
- ใช้แสงสว่างจากธรรมชาติช่วยในการเพิ่มแสงสว่าง
- สีของผนัง ฝ้าเพดานที่มีสีอ่อนจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าสีมืดทึบ
อย่างไรก็ดีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดมีมากมายหลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเอง เช่น ไม่เปิดไฟในบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึง ปิดไฟทุกครั้งหลังเสร็จจากการใช้งาน การทำความสะอาดหลอดไฟอย่างสม่ำเสมอเพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การเลือกอุปกรณ์ ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารช่วยให้ลดการใช้พลังงานได้อย่างมากเช่นกัน เช่นการเลือกใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอด LED เป็นต้น โดยสิ่งสำคัญควรคำนึงถึงขนาดกำลังไฟฟ้าที่นำมาใช้งานต้องเหมาะสมและมีความสว่างเพียงพอกับพื้นที่การใช้งานด้วย
You are not allowed to view links.
Register or
Login